ไม่ว่าฤดูไหนๆก็ตาม เชื่อได้เลยว่าทุกบ้านก็มีพัดลมเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เป็นประจำ และเมื่อพัดลมถูกใช้งานไปนานๆ ก็มักจะเกิดอาการหมุนช้า หรือไม่ยอมหมุนทั้งๆ ที่เสียบปลั๊กและเปิดสวิตซ์แล้ว หากนำไปให้ช่างซ่อม ก็คงจะเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองไม่น้อย คงจะดีทีเดียวหากเราสามารถซ่อมพัดลมที่ติดๆ ดับๆ ได้ด้วยตัวเอง วันนี้จึงมีขั้นตอนการซ่อมพัดลมไม่หมุน หมุนช้าหรือหมุนไม่สม่ำเสมอ มาฝากกัน
อาการเสียที่ว่าเกิดจากตัว Capacitor ที่ทำงานร่วมกับ Motor ของพัดลมครับ Capacitor หรือที่เรียกว่าตัว C หรือบางคนเรียกตัว CAP ครับ จริงๆ อาการพัดลมหมุนช้า ไม่หมุน โดยมากเกิดได้จาก 2 สาเหตุ ก็คือ Motor เสีย และตัว Capacitor ค่ามันเสื่อมหรือเสียนั่นแหละครับ ซึ่งโอกาสที่จะเสียมากที่สุดก็เป็นเจ้าตัว C นี่แหละครับ ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจจะเกิดตัว C เสียได้อีกก็คือ พัดลมไม่หมุน หรือ ต้อง Start ด้วยมือก่อนถึงจะทำงาน หรือ ทำงานไปซักพักก็ค่อยๆ หยุด จับตัว C เปลี่ยนได้เลยเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรจะตรวจเช็คดูก่อนนะครับว่าแกนหมุนไม่ได้ฝืดมาก อันนั้นเกิดจากไม่ค่อยได้ถอดมาล้างทำความสะอาด เป่า ปัด ฝุ่นบริเวณมอเตอร์เลย ซึ่งควรทำเป็นประจำครับ 2-3 เดือนซักครั้งนึงหากเราใช้งานทุกวัน
เครื่องมือที่ใช้ก็มี
1. ไขควงแฉก
2. คีมตัดหรือ Cutter ก็ได้
3. หัวแร้ง
4. ตะกั่วบัดกลี
5. ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือตัว C หรือตัว CAP นั่นแหละครับ
6. ส่วน Meter วัดไฟจะมีหรือไม่มีก็ได้ครับ ไม่ค่อยจำเป็นผมเอามาเช็คเพื่อให้เห็นว่าตัวที่เสียเกิดจากตัว C ครับ
นี่ครับตัว C ราคา 20 บาท ซื้อได้ที่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าใช้ค่าแบบไหนสำหรับตัวที่เราจะซ่อม ก็ต้องถอดพัดลมมาดูก่อนครับ ซึ่งโดยทั่วๆ ไป (เกือบทุกยี่ห้อทุกรุ่น) ก็จะใช้ค่า 1.5uF(Micro Farad) 400V แต่เพื่อชัวร์ก็ควรจะถอดรื้อดูก่อนครับ หรือเอาตัวอย่างไปถามที่ร้านขายได้เลย บอกคนขายว่า C พัดลมครับ
1.ขั้นตอนแรกก็ถอด ๆ
ก่อนที่จะถอดอย่าลืมดึงปลั๊กก่อนนะครับ อันนี้สำคัญมากๆ ทุกยี่ห้อของพัดลมเจ้าตัว C จะอยู่ติดกับ Motor ครับ เพราะหากลากสายยาวไป สายที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะทำให้ค่า C เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เพราะฉะนั้นบริษัทผู้ผลิตก็จะเอาไว้ติดกับ Motor ครับ โดยจะมีน๊อต 2 ตัว ต้องถอดน๊อตตัวบนก่อน จากนั้นก็ถอดตัวที่ท้ายครับ
หลังจากนั้นก็จะได้หน้าตาแบบนี้ครับ ตัว C ก็คือที่ลูกศรชี้ไว้นั่นแหละครับ ขันน๊อตตัดสายออกมาได้เลย ไม่มีขั้วครับ ตอนต่อกลับต่อยังไงก็ได้
เอามาตรวจวัดให้ดูครับ ค่าที่ได้ของตัวนี้คือ 0.444 uF ซึ่งค่าปกติจะเป็น 1.5 uF เสียแน่นอน ซึ่งถ้าค่าน้อยกว่านี้อาจจะทำให้พัดลมไม่หมุนเลยก็ได้ *** ค่าที่โชว์ในรูปคือ 444.2 nF (Nano Farad) ซึ่งก็เท่ากับ 0.4442 uF (Micro Farad) ซึ่งก็คล้ายๆ กับ 1000 มิลลิกรัม เท่ากับ 1 ครับ 1000 เท่ากับ 1 กิโลกรัม นั่นแหละครับ ซึ่งจริงๆ ค่าพวกนี้มันแบ่งย่อยได้ลงไปอีก มิลลิ —> ไมโคร —> นาโน —> พิโก้ ใครเรียนมาทางสายวิทย์อาจจะคุ้นเคย ****
มาดูพระเอกของเราครับ ค่าที่วัดได้คือ …. 1.543 uF ครับ
จากนั้นก็ปอกสายไฟตรงปลายเพื่อบัดกลีครับ ต้องระมัดระวังไม่ไปทำให้ส่วนอื่นๆ ของพัดลมเสียหายนะครับ เพราะขดลวด motor จะเล็กมากๆ ขาดเอาได้ง่าย จริงๆ ขั้นตอนนี้ใครไม่มี หัวแร้ง ตะกั่ว ก็สามารถใช้วิธีการพันสายไฟได้ครับ เพียงแต่ต้องพันเข้ากันให้แน่นหนาที่สุด และหลังจากนั้นต้องพันด้วยเทปพันสายไฟอีกครั้ง อันนี้จำเป็นมากๆ นะครับไม่งั้นไฟช๊อตเอาได้
เสร็จแล้วก็จัดเก็บตำแหน่งครับ ขันน็อตยึดตัว C หรือหากตัวใหม่ที่ซื้อมาไม่มีขาสำหรับยึดน็อต เหมือนที่ผมซื้อมาก็ใช้กาวสองหน้าได้ครับ จากนั้นก็ใส่ฝาครอบคืนตำแหน่ง ใส่ขาที่สำหรับดึงให้พัดลมส่าย คืนตำแหน่งครับ
จากนั้นเป็นอันเรียบร้อยครับ ซ่อมพัดลมด้วยงบประมาณ 20 บาท หากยกไปหาช่างก็ประมาณ 100-150 บาท สำหรับใครที่เปลี่ยนตัว C ไปแล้วพัดลมยังไม่หมุน (ส่วนคนที่หมุนช้านี่กลับมาปกติแน่นอน) อาการเสียเป็นที่ Motor ค่อนข้างแน่ (ควรแกะฝาล่างดูว่าสายไฟขาดหรือเปล่าก่อนนะ ต้องระมัดระวังหน่อยนะครับ) อาการ Motor เสียค่าซ่อมประมาณ 200-300 บาท ซึ่งดูเหมือนจะไม่ค่อยคุ้มสำหรับคนที่มีพัดลมตัวเล็ก ๆ ราคา 300-500 บาท ลองซ่อมดูได้ครับ สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องพัดลม อากาศร้อนๆ ได้รับลมเย็นๆ จะได้ใจเย็นๆ อารมณ์ดีๆ กันครับ
ข้อมูล : สมาชิกเว็บไซต์พันทิป Control.,พัชรพร นาคประดิษฐ์
เรียบเรียง : ไทยมุง Thaimung